159


สมองจัดเป็นอวัยวะที่สำคัญ ในการควบคุมการทำงานของร่างกายแทบทุกส่วน เป็นหน่วยความจำของร่างกาย รวมถึงส่งผลถึงความคิดและอารมณ์ การบริโภคอาหารจึงมีความสำคัญ โดยสารอาหารที่ดีและเหมาะสม จะช่วยในการบำรุงสมองให้แข็งแรง สดใส ส่งเสริมการทำงานของเซลล์ประสาท ช่วยในเรื่องความจำ ลดความเครียด โดยสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของสมองมีดังนี้ 


1. คาร์โบไฮเดรต – โดยควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอ เพื่อเป็นพลังงานให้กับสมอง และให้ดีต่อสุขภาพ ควรเลือกรับประทานกลุ่มที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นต้น  

2. โปรตีน – ให้กรดอะมิโนที่ช่วยในการบำรุงร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โดยเฉพาะกรดอะมิโน  

เฟนิลอะลานีน ที่ช่วยในการสร้างสารโดพามีน ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งพบในถั่วเหลือง ไข่ เนื้อสัตว์ และธัญพืช รวมถึงทริปโตเฟน ที่ใช้ในการสร้างสารซีโรโทนิน ทำให้สมองสงบ ควบคุมการนอนหลับ และความกังวล รวมถึงทำให้อารมณ์ดี ซึ่งพบในไข่ เนื้อสัตว์ กล้วยหอม นม  

3. วิตามินบี – โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน บี 6 บี 12 แพนโธทีนิคและกรดโฟลิกช่วยลดความเสี่ยงของสมองเสื่อม ความจำเลอะเลือน โดยวิตามินบี ช่วยเร่งการส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง โดยช่วยให้เยื่อหุ้มรอบๆ เซลล์ทำงานเป็นปกติ และนักวิจัยยังแนะว่ากรดโฟลิก วิตามินบี 6 และบี 12 จะช่วยกันทำงานในการลดระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือด เพราะหากระดับสารโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูง จะลดความจำการเรียนรู้และความเป็นเหตุเป็นผล นอกจากนี้วิตามินบี 6 และ 12 ยังทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับความจำ 

4. ธาตุเหล็ก – พบมากในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ ช่วยในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง การขาดธาตุเหล็กทำให้สมาธิสั้น ไอคิวลดลง การเรียนรู้ลดลง  

5. โคลีน – เป็นองค์ประกอบในการสร้างสารอะเซทิลโคลีน ซึ่งช่วยในเรื่องของความจำและสติปัญญา พบมากในจมูกข้าวสาลี ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก 

6. สารต้านอนุมูลอิสระ – เช่น วิตามินซี อี เบต้าแคโรทีน ซีเลเนียม ช่วยปกป้องสมองจากอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีสารพฤษเคมีอื่นๆ ในพืชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารโอพีซีในสารสกัดจากเมล็ดองุ่น สารสกัดจากใบแปะก๊วย และฟลาโวนอยด์ในผัก ผลไม้ เช่น องุ่น ผลไม้ประเภทเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ชาเขียว เป็นต้น 

7. น้ำมันปลา - หรือโอเมก้า 3 ซึ่งมีกรดไขมัน DHA ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและสติปัญญาของเด็ก พบมากในปลาทะเลชนิดต่างๆ  

 

และอย่าลืมในเรื่องของพฤติกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของสมอง เช่น การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เลือกอาหารไขมันต่ำที่มีคุณภาพ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงทำให้สมองคิดช้า สมองเฉื่อยชา อ่อนล้า ไม่สดชื่น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ฝึกสมอง พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด  


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

1. ผุ้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวลี โล่วิรกรณ์. กินอาหารอย่างไรจึงจะบำรุงสมอง. Retrieved on August 1, 2022 from chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://uac.kku.ac.th/journal/year_15_1-2_2550/04_15_1_2550.pdf 

2. อ.ดร. วนะพร ทองโฉม.อาหารบำรุงสมองครนสูงวัย ตัวช่วยคนวัยเก๋าสุขภาพดี. 5 สิงหาคม 2564. Retrieved on August 1, 2022 from https://www.rama.mahidol.ac.th/th/news-clipping/rama-news/newsclip23aug2019-0921