249

เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง มีการพบปะเพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย ร่วมรับประทานอาหารมื้อหนัก ซึ่งส่งผลให้บางคนอาจประสบกับปัญหาน้ำหนักเกิน หรือมีอาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย ในครั้งนี้จึงขอแนะนำการเลือกรับประทานอาหารกลุ่มไฟเบอร์ หรืออาหารที่ให้กากใยสูง เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และลดปัญหาท้องผูก


ใยอาหาร หรือไฟเบอร์ จัดเป็นสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ที่ไม่ให้พลังงาน แต่มีประโยชน์กับร่างกาย ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ดีในระบบทางเดินอาหาร ทำให้การขับถ่ายเป็นปกติ ลดอาการท้องผูก ขับถ่ายสะดวกขึ้น นอกจากนี้ ใยอาหารยังนำมาช่วยในการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากทำให้อิ่มท้องไว มีคุณสมบัติในการดูดซึมไขมัน หรือน้ำตาลจากอาหารได้บางส่วนพร้อมทั้งดูดซับสารก่อมะเร็งที่ปนมากับอาหารและขับถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระ


โดยทั่วไปใยอาหารจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1. ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble dietary fiber) มีคุณสมบัติพองตัวดูดซึมน้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณ ในกระเพาะอาหารจึงทำให้อิ่มเร็ว กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวได้ดี 

พบใน : ข้าวสาลี ข้าวโพด ผักต่างๆ เมล็ด ถั่วเปลือกแข็ง เผือก มัน และขนมปังโฮลวีท เป็นต้น  

2. ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (Soluble dietary fiber) มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี และพองตัวเป็นเจลใน ลำไส้ ท้าให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารช้าลง ช่วยลดอัตราการดูดซึมน้ำตาล 

พบใน : ธัญพืชที่ขัดสีน้อย ถั่วเมล็ดแห้ง บางชนิด เช่น ถั่วแดงหลวง ผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล ลูกพรุน และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น


แนะนำการรับประทานกลุ่มใยอาหารให้หลากหลาย เพื่อสุขภาพที่ดีของลำไส้ สำหรับใครที่อาจไม่ชอบรับประทานอาหารกลุ่มผัก ผลไม้ หรือธัญพืช ปัจจุบันมีการนำใยอาหารเช่น อินูลิน ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ กาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ มาทำในรูปแบบชงดื่ม เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก รับประทานง่าย รสชาติดี ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสุขภาพทั่วไป 


สิ่งสำคัญสำหรับการรับประทานอาหารจำพวกกากใย คืออย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน และระวังอย่ารับประทานมากจนเกินไป หากรับประทานเกิน 50-60 กรัมต่อวัน อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง หรือท้องอืดได้ค่ะ


เอกสารอ้างอิง

1. น.ส.ศรีวรรณ ทองแพง นักวิชาการโภชนาการ ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ใยอาหาร...สำคัญอย่างไรกับร่างกาย. Retrieved on December 6, 2022 from chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/6_44_1.pdf

2. อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ใยอาหารจำเป็นต้องทานหรือไม่. Retrieved on December 6, 2022 from https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-773



สินค้าที่เกี่ยวข้อง

พรีแอ็คต้า ไฟเบอร์ ดินเนอร์ 15 กรัม >> https://bit.ly/3ULwZYh