834


การเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดให้เหมาะสมกับตัวเอง เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เภสัชกรร้านยาพบมากที่สุด เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดในท้องตลาดมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งยี่ห้อ จำนวนเม็ดยา และราคา บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Tips เล็ก ๆ ในการเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดกันค่ะ 


ยาเม็ดคุมกำเนิดมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือนที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ใช้สำหรับการคุมกำเนิด และเพื่อประโยชน์อื่น ๆ เช่น ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย สำหรับคนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือแม้กระทั่งใช้สำหรับรักษาสิว ส่วนอีกประเภท คือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ใช้เฉพาะกรณีที่มีข้อผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีปกติ เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด ห่วงคุมกำเนิดหลุด หรือกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น 


เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนและมีอาการข้างเคียงจากการใช้มากกว่า  


ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือน ยังคงแบ่งแยกย่อยได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progesterone-only oral contraceptive pills: POC) ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดเดียว เหมาะสำหรับคนที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของการใช้เอสโตรเจนได้แก่คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะได้ 

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pills: COC) ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนสองชนิดคือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันที่ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือชนิดของโปรเจสเตอโรน ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักจะเป็นตัวเลือกแรก มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งสำหรับการคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อปรับฮอร์โมน 


ขั้นตอนในการพิจารณาเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือน

1. เลือกชนิดของฮอร์โมน ว่าควรใช้ชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหรือฮอร์โมนรวม โดยตัวเลือกแรกควรเป็นชนิดฮอร์โมนรวมยกเว้นคนที่มีข้อจำกัดที่ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้แก่ 

• ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ที่สูบบุหรี่เป็นประจำวันละ 15 มวนขึ้นไป 

• ผู้หญิงที่มีโรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก ไมเกรนชนิดมีออร่า หัวใจขาดเลือด ตับแข็ง มะเร็งตับ 

• ผู้หญิงที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน สโตรก โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูก 

• ผู้หญิงให้นมบุตร 

2. เลือกชนิดของโปรเจสเตอโรน จากผลของใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่นอกเหนือจากการคุมกำเนิด เช่น การลดสิว ไม่ทำให้บวมน้ำ เป็นต้น ฮอร์โมนโปรเจสเอตโรนในยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นแรก ๆ จะมีโครงสร้างใกล้เคียงกับฮอร์โมนเพศชาย จึงอาจทำให้ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ มีอาการข้างเคียงได้ เช่น หน้ามัน สิว ขนดกได้ แต่ยาคุมกำเนิดรุ่นใหม่มีการใช้โปรเจสเตอโรนที่พัฒนาใหม่ ที่ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ มีบางชนิดยังมีฤทธิ์แย่งจับกับฮอร์โมนเพศชาย จึงลดอาการแสดงจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป จึงสามารถใช้ลดสิวได้ นอกจากนี้การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดการสะสมของน้ำใต้ผิวหนังทำให้ดูผิวพรรณเต่งตึง บวมน้ำเป็นผลให้น้ำหนักขึ้นได้ ยาคุมกำเนิดรุ่นใหม่บางชนิดจะใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีผลทำให้เกิดการบวมน้ำ จึงไม่ทำให้น้ำหนักขึ้น

3. เลือกปริมาณเอสโตรเจน ซึ่งมีความสำคัญมากในการลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยปริมาณเอสโตรเจนที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ แต่ถ้าใช้ปริมาณที่น้อยเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ 

4. เลือกจำนวนเม็ดยา ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการรับประทานยา โดยยาเม็ดคุมกำเนิดมีทั้งชนิด 21 และ 28 เม็ด 

a. ชนิด 21 เม็ดประกอบด้วยเม็ดฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด เหมาะสำหรับคนที่ไม่ความเสี่ยงที่จะลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาผิด โดยให้รับประทานยา 21 วัน หยุดใช้ยา 7 วัน หลังจากนั้นให้ขึ้นแผงใหม่ (วันที่ 8 หลังจากหยุดใช้ยา) โดยไม่ต้องใส่ใจว่าประจำเดือนว่าจะมาหรือหยุดในวันไหน 

b. ชนิด 28 เม็ดที่ประกอบด้วยเม็ดฮอร์โมนและเม็ดแป้งหรือวิตามิน เหมาะสำหรับคนที่เสี่ยงจะลืมรับประทานยาคุมกำเนิด ให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ดทุกวัน เมื่อหมดเม็ดสุดท้าย วันถัดมาให้เริ่มแผงใหม่ได้ทันที


หลังจากเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว ควรรับประทานยาทุกวันอย่างต่อเนื่องในเวลาเดิมของทุกวัน ไม่ลืมรับประทานยา และเริ่มแผงใหม่ให้ถูกต้อง และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อต้องรับประทานยาตัวอื่นในขณะที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา


เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด รวมถึงคำถามอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สามารถปรึกษาเภสัชกรเอ็กซ์ต้าพลัสใกล้บ้าน หรือทางแอปพลิเคชั่น ALL PharmaSee ได้ตตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ 



เอกสารอ้างอิง

1. Radoslaw Slopien, Use of oral contraceptives for management of acne vulgaris and hirsutism in women of reproductive and late reproductive age, Prz Menopauzalny. 2018 Mar; 17(1): 1–4. 

2. Danielle B. Cooper, Oral Contraceptive Pills, National Library of Medicine. 2022 Nov. Derived from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430882/

3. WHO. Medical eligibility criteria for contraceptive use, 5th edition. 2015