98

โดย ภญ. จิตประสงค์ หลำสะอาด


วิธีการจัดจานสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (The Diabetes Plate Method) เป็นการจัดจานอย่างง่าย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยการจัดจานแบบ “2:1:1” หรือ “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” ตามคำแนะนำของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแบ่งจานอาหารทุกมื้อออกเป็น 4 ส่วน ซึ่ง 2 ส่วนแรก (ครึ่งจาน) คือ ผัก, 1 ส่วนต่อมา คือ ข้าวแป้ง และ 1 ส่วนสุดท้าย คือ เนื้อสัตว์ โดยคำแนะนำในการเลือกอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีแนวทางการเลือก ดังนี้


ส่วนที่ 1 : ผัก (ครึ่งจาน) เลือกเป็นผักกลุ่มที่ไม่มีแป้ง (non-starchy vegetables) ซึ่งจะไม่ไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด มีวิตามินและแร่ธาตุรวมถึงใยอาหาร ตัวอย่างของผักกลุ่มนี้ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง พริกหวาน แตงกวา ข้าวโพดอ่อน และกลุ่มของผักใบต่างๆ เช่น ผักโขม ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยง ผักที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก (starchy vegetables) เช่น ฟักทอง ข้าวโพด มันม่วง มันหวาน มันฝรั่ง เป็นต้น


ส่วนที่ 2 : ข้าวแป้ง เป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง สำหรับคนไทยที่รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานหรือต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเลือกรับประทานข้าวชนิดที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือผ่านการขัดสีน้อย ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนไปทางต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมนิล รวมถึงข้าว กข 43 นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกรับประทานวุ้นเส้น เส้นบุก เส้นแก้ว รวมถึงธัญพืชไม่ขัดสี (wholegrains) อื่นๆ อย่างข้าวโอ๊ต ควินัว กราโนลา (เลือกแบบน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาล) เป็นต้น


ส่วนที่ 3 : เนื้อสัตว์ สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ทั้งเนื้อปลา ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ โดยเลือกเป็นส่วนที่ไม่ติดมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งจะไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ รวมไปถึงกุ้ง หมึก หอย สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะมีคอเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วลันเตา โปรตีนเกษตร ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอย่างน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง และเต้าหู้ได้


ส่วนที่ 4 : เครื่องดื่ม เป็นส่วนเพิ่มเติมจากสูตร 2:1:1 ซึ่งการเลือกดื่มน้ำเปล่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะน้ำเปล่าไม่มีแคลอรี และไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดื่มเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลได้ เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลมสูตรไม่เติมน้ำตาล น้ำโซดาแต่งกลิ่นและรสชาติ (Sparkling water) รวมถึงน้ำแต่งกลิ่น (Flavored water) ในเวลาที่ต้องการความสดชื่นได้


การใช้อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอาหารที่มีอัตราส่วนของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (น้อยกว่า 55) และมีงานวิจัยว่าสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ทดแทนมื้ออาหารหลัก หรือใช้เป็นอาหารระหว่างมื้อ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีทั้งผลิตภัณฑ์รูปแบบผงสำหรับชงและรูปแบบของเหลวพร้อมดื่ม ตัวอย่างอาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด


ซึ่งอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถที่จะนำมาชงผสมน้ำและดื่มเพื่อทดแทนมื้ออาหารหรือดื่มเสริมระหว่างมื้ออาหารได้โดยตรง และยังสามารถนำมาประยุกต์เป็นส่วนประกอบในเมนูอื่นๆ ได้ เช่น เมนูเครื่องดื่มยามเช้าที่จะช่วยปลุกจากความงัวเงีย ด้วยเมนูกาแฟผสมกับอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือจะเป็นการเติมความสดชื่นยามบ่าย ด้วยเมนูสมูททีหรือไอศกรีม นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่น ๆ อย่าง แพนเค้กข้าวโอ๊ต พุดดิ้ง ชานม ฯลฯ เพื่อที่จะเป็นตัวช่วยของผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด


เอกสารอ้างอิง

1. Intechnic, http://www. intechnic. com (2020) What is the diabetes plate method?, Diabetes Food Hub. Available at: https://www.diabetesfoodhub.org/articles/what-is-the-diabetes-plate-method.html (Accessed: 11 October 2023). 

2. (No date) 2:1:1 รหัสเด็ดลดพุง - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). Available at: https://www.thaihealth.or.th/211-%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%87/ (Accessed: 11 October 2023). 

3. กุสาวดี เมลืองนนท์ (2566). บทความวิชาการเพื่อการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ เรื่อง อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods). 

4. (No date a) ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์. Available at: https://www.pharmacycouncil.org/ccpe/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1231 (Accessed: 11 October 2023). 

5. Recipes for people with diabetes: Glucerna® (no date) glucerna.ca. Available at: https://glucerna.ca/en/recipes (Accessed: 11 October 2023). 



อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ