ตอนที่ 5 P-PAC กับการศึกษา
ทันทีที่ผมรู้ว่ามีศาสตร์ "Dermatoglyphics" ผมไม่ได้มองเฉพาะประโยชน์ภายในองค์กร แต่ยังคิดถึงไกลไปถึงพ่อแม่ที่บังคับข่มขู่ เคี่ยวเข็ญ หรือพยายามหว่านล้อมให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้ และลูกก็ไม่กล้าปฏิเสธทั้งที่ใจรักอย่างอื่นมากกว่า ผมจึงคิดว่า "P-PAC" น่าจะเป็นอาวุธสำหรับลูก ๆ เอาไว้รับมือพ่อแม่จอมยุ่งเหล่านี้ได้ เพราะอนาคตชีวิตในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าของเด็ก เป็นของเขาเอง หรือของพ่อแม่กันแน่
ผมมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งอยากให้ลูก ๆ เรียนคณะวิศวะฯ ลูกคนโตนั้นอยากเรียนคณะสถาปัตย์มากกว่า แต่ไม่อยากขัดใจแม่จึงสอบเข้าไปเรียนในคณะวิศวะฯ พอถึงคราวที่คนน้องต้องสอบบ้าง แม่ก็อยากให้เลือกคณะวิศวะฯอีก แต่คราวนี้น้องไม่ยอมเพราะอยากเรียนนิเทศศาสตร์มากกว่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น เมื่อเราตั้ง "P-PAC” เพื่อนร่วมงานท่านนี้จึงได้พาลูกทั้งสองคนมาใช้บริการ ตอนแรกวิเคราะห์คนน้องคนเดียวเพราะคนพี่ไม่เชื่อไม่เอาด้วย บอกว่างมงายเหมือนหมอดู แต่เมื่อได้เข้าฟังผลวิเคราะห์ของคนน้องเสร็จ ปรากฏว่าผลวิเคราะห์บุคลิกอุปนิสัยตรงมาก และทำให้แม่ยอมรับความถนัดของคนน้องที่มีศักยภาพ
ในทางนิเทศฯมากกว่า คนพี่จึงเปลี่ยนความคิด และอยากวิเคราะห์บ้างสุดท้ายเมื่อวิเคราะห์แล้วผลประเมินมาว่าคนพี่นั้นเหมาะกับงานด้านสถาปัตย์ ทีนี้ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะเรียนต่อบนเส้นทางเดิม หรือจะเบนเข็มเปลี่ยนไปตามความชอบของตน
มีผู้ปกครองหลายคนที่เพิ่งได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของบุตรหลาน หลังจากได้ฟังผลวิเคราะห์จาก"P-PAC" มีเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ผู้ปกครองต้องการคำปรึกษาเพื่อประกอบการเลือกสาขาวิชาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในขณะที่ผู้ปกครองอยากให้เรียนคณะวิศวะฯ ตัวเด็กเองนั้นรู้ตัวว่าไม่ชอบเรียนคณะวิศวะฯเลย แต่ชอบทางด้านศิลปะ หรือทาง ดนตรีมากกว่า แต่ไม่กล้าอธิบายหรือโต้แย้งกับผู้ปกครอง ในตอนที่นักวิเคราะห์ของเราสรุปเรื่องบุคลิกภาพ แล้วบอกว่าเด็กนั้นมีความเป็นผู้นำสูง และเป็นคนสนุกสนานกล้าแสดงออก ผู้ปกครองได้ฟังก็แย้งขึ้นว่าสงสัยจะวิเคราะห์ผิดแล้ว ลูกผมออกจะเป็นคนเงียบเสียด้วยซ้ำ เมื่อได้ซักถามกันไปมาก็ปรากฏว่า เด็กคนนี้เมื่ออยู่ในบ้านผู้ปกครองจะดูแลกำกับอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก ทำให้บุคลิก และศักยภาพหลายอย่างถูกกดไว้ แต่เมื่อออกสู่โลกภายนอก หรือในโรงเรียน เด็กมีอิสรภาพกล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับที่บ้าน กลายเป็นว่าอยู่โรงเรียนกลายเป็นหัวหน้าก๊วน สนุกสนานเฮฮาต่างกับตอนอยู่ที่บ้านอย่างสิ้นเชิง
ในกรณีนี้นักวิเคราะห์ของเรายังได้อธิบายเสริมให้ผู้ปกครองเนื่องจากสมองด้านขวาของเด็กซึ่งเป็นด้านศิลปะนั้นโดดเด่นกว่าสมองซีกซ้าย เด็กคนนี้จึงมีความสุขอยู่กับการได้ใช้ความคิด และการสร้างสรรค์จินตนาการในเชิงศิลปะมากกว่า จึงน่าจะส่งเสริมในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น เรียนด้าน Graphic Design หรือด้านการสร้าง 3D Animation และหวังว่าการวิเคราะห์ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ปกครองยอมรับ และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้
ตามทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของศ.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาศักยภาพ และความถนัดของคนแล้วค้นพบว่า แต่ละคนจะมีศักยภาพความถนัดต่างกันไป ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันก็คือเด็กชั้นเรียนเดียวกัน สอนด้วยอาจารย์คนเดียวกัน จากตำราเล่มเดียวกัน แต่ระดับการรับรู้ต่างกัน ในอดีตเรามักจะตีความไปว่าเด็กหัวไม่ดีเอง แต่วันนี้เราคงต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าค่านิยมที่มุ่งให้ต้องเก่งเลข ต้องเก่งภาษา เหมาะกับเด็กทุกคนหรือไม่
หลักการของP-PAC ยึดตามทฤษฎีพหุปัญญา เน้นให้พัฒนาอย่างเต็มที่ไปตามศักยภาพ และความถนัดของแต่ละบุคคล โดยถือหลัก “ส่งเสริมจุดเด่น ควบคุมจุดด้อย” แทนความเชื่อแบบดั้งเดิมที่ว่า “ด้อยจุดไหน เสริมจุดนั้น” ซึ่งต้องทุ่มเทเวลา และทรัพยากรมากมาย แต่ได้ผลกลับมาไม่คุ้มค่า