184

ความเชื่อที่มักจะเข้าใจผิดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงฝนตก ซึ่งทำให้เราดูแลตัวเองอย่างไม่ถูกวิธี มีดังนี้


1.ตากฝนแล้วจะเป็นหวัดหรือไม่สบายทุกครั้ง

ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง แต่การโดนฝนอาจเพิ่มโอกาสการเป็นหวัด ยกตัวอย่างเช่น ฝนที่ชะล้างเอาเชื้อโรคแล้วมาโดนตัวเรา ในกรณีนี้อาจเพิ่มโอกาสการไม่สบายได้ และทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนด้วย ดังนั้นการตากฝนแล้วจะทำให้เป็นหวัดทุกครั้งนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อตากฝนหรือโดนฝนควรรีบชำระล้างร่างกายเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สบายได้ 


2.ไม่สามารถดื่มน้ำเย็นได้เมื่อเวลาเป็นหวัด

เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเนื่องจาก เราสามารถดื่มได้ทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็น ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่การดื่มน้ำอุ่นจะทำให้รู้สึกสบายกว่า และหากมีเสมหะก็จะทำให้ขับออกมาง่ายขึ้น เราสามารถดื่มได้ทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็น และการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายสดชื่น และลดปริมาณความร้อนได้อีกด้วย


3.เมื่อโดนฝนแต่ยังไม่มีอาการเป็นหวัดหรือมีไข้ควรรับประทานยากันไว้ก่อน 

ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเนื่องจาก หากเป็นหวัดส่วนใหญ่มักจะเกิดจากไวรัสการรักษาก็จะรักษาตามอาการซึ่งหากยังไม่มีอาการจึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องรับประทานยา เพราะนอกจากจะไม่ช่วยป้องกันหวัดแล้วอาจจะเกิดผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย ดังนั้นวิธีการป้องกันหวัดเมื่อโดนฝนที่ดีที่สุดคือ การทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากโดนฝน ทำให้ร่างกายอบอุ่น การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะทำให้ไม่ป่วยได้ง่ายๆ


4. เมื่อเป็นหวัดทุกครั้งต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ

เป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากโรคหวัดส่วนใหญ่เกิดมาจากไวรัส ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ นอกจากจะไม่ช่วยทำให้อาการดีขึ้น แต่กลับเพิ่มอัตราการดื้อยาของเชื้ออีกด้วย ดังนั้นหากต้องการรักษาอาการหวัดให้เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อประเมินอาการ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป


ความเข้าใจผิดอาจทำให้เกิดการดูแลตัวเองที่ไม่ถูกวิธี ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง นอกจากนี้การดูแลตนเองอาจจะมีความพิเศษขึ้นในระยะนี้เนื่องจากเป็นช่วงการระบาดของไวรัส Covid-19 ดังนั้นนอกจากดูแลให้ร่างกายแข็งแรงแล้วควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอลล์เจลที่มีมาตรฐานบ่อยๆ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันการติดเชื้อ


Reference

https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1137