หน้าหนาวและงานเลี้ยงเป็นของคู่กัน ยิ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศหนาวเพื่อทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นก็เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ซึ่งแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายเราอุ่นได้จริงหรือไม่ เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันค่ะ
เมื่ออากาศหนาว ร่างกายเราจะสั่งให้หลอดเลือดที่อยู่ตามผิวหนังหดตัวเพื่อช่วยควบคุมอุณภูมิของร่างกายไม่ให้ลดต่ำลงมากกว่า 35 องศาเซลเซียส จนเกิดผลเสียจากสภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ซึ่งจะส่งผลทำให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายผิดปกติได้ แต่ผลจากการที่หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัวอย่างกะทันหันนั้น ก็ทำให้เกิดอาการขนลุกและหนาวสั่นได้
การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังสูงขึ้นจึงรู้สึกอุ่นขึ้น รวมถึงมีอาการผิวแดง ตัวแดงและหน้าแดง รวมถึงอาจมีเหงื่อออก อาการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
แต่ที่จริงแล้วการที่หลอดเลือดส่วนปลายขยายจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นการลดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ทำให้นำไปสู่สภาวะตัวเย็น(Hypothermia) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายกับอวัยวะต่างๆภายในร่างกายได้
การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะไม่ได้ทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นได้จริงแล้วยังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะตัวเย็น นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดความสามารถในการควบคุมตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพิ่มความดันโลหิต กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานจะลดประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะความจำเสื่อม เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็ง ไขมันพอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระบบาทางเดินอาหารได้
เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายในหน้าหนาวนี้ บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ
1. สวมเสื้อผ้าหนาๆ ให้ปกคลุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะมือ เท้า คอ และหู
2. เคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายสูงขึ้น
3. จิบน้ำอุ่นบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
4. รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย ได้แก่
a. กล้วย ที่เป็นแหล่งของวิตามินบี และแมกนีเซียม ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไตและต่อมไทรอยด์ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
b. เนื้อสัตว์ เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อสัตว์สีแดงที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก การที่ธาตุเหล็กน้อยกว่าปกติจะทำให้เกิดอาการมือเย็น เท้าเย็น อ่อนเพลียได้ง่าย นอกจากนี้เนื้อสัตว์ยังเป็นแหล่งของวิตามินบี 12 ที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาท
c. มันฝรั่งและพืชหัวต่างๆ เช่นแครอท หัวไชเท้า เผือกที่ร่างกายต้องใช้พลังงานสูงในการย่อยอาหารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มอุณหภูมิแกนกลางร่างกายได้
d. ดื่มน้ำขิงร้อน ที่ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น เพิ่มอุณหภูมิร่างกายและช่วยในระบบขับถ่าย
e. ดื่มกาแฟร้อน ที่มีคาเฟอีนช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญของร่างกาย ช่วยเพิ่มอุณหภูมิแกนกลางร่างกายทำให้อบอุ่นมากขึ้น
References
1. https://www.hvrxsolutions.com/nutritious-foods-keep-warm-cold-weather/
2. https://www.alcohol.org/effects/warm-flushed-skin/
3. https://hd.co.th/the-hypothermia