3.1 k


โพรไบโอติคส์ (Probiotics) คือจุลินทรีย์มีชีวิต ที่เมื่อรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยปรับสมดุลการทำงานของลำไส้และระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งโพรไบติคส์ที่พบมากและใช้ในทางการแพทย์มี 3 ชนิดหลักๆได้แก่  

Lactobacillus casei, Lactobacillus acidophilus เป็นโพรไบโอติคส์ชนิดแบคทีเรีย พบบ่อยที่สุดในท้องตลาด พบมากในโยเกิร์ตและอาหารประเภทหมักดอง  

Bifidobacterium bifidum คือโพรไบโอติคส์ชนิดแบคทีเรีย พบมากในนมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม  

Saccharomyces boulardii คือไพรโบติดส์ชนิดยีสต์  

การเลือกซื้อโพรไบโอติกส์สำหรับปรับการทำงานของลำไส้และระบบต่างๆ ของร่างกาย ควรเลือกชนิดในชนิดหนึ่งใน 3 ชนิดนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย  

พรีไบโอติคส์ (Prebiotics) คืออาหารของโพรไบโอติคส์ ที่จะช่วยเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ พบได้มากในไฟเบอร์จากผักและผลไม้  

ซินไบโอติคส์ (Synbiotics) คือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติคส์และพรีใบโอติคส์ 

 

ประโยชน์ของโพรไบโอติคส์  

หลักการทำงานของโพรไบโอติคส์คือเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดี ที่ช่วยในการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายให้มากขึ้น โดยปกติร่างกายจะมีจำนวนจุลินทรีย์ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับการทำงาน แต่ในสภาวะบางอย่างอาจทำให้จำนวนโพรไบโอติคส์ลดลง เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อ ที่จะกำจัดทั้งจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดี ส่งผลต่อร่างกาย เช่น ทำให้ท้องเสียได้  


ปัจจุบันได้มีการใช้โพรไบโอติคส์สำหรับหลากหลายอาการ ได้แก่  

• โรคท้องร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องร่วงจากการใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน  

• ภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตสในนม  

• โรคท้องผูก โดยโพรไบโอติคส์ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้จึงสามารถใช้ในอาการท้องผูกได้  

• โรคลำไส้แปรปรวน (IBS, Irritable Bowel Syndrome) 

• โรคลำไส้อักเสบ (IBD, Inflammatory Bowel Disease)  

• โรคเชื้อราในช่องคลอดหรือตกขาว  


นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการใช้โพรไบโอติคส์สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง โรคผื่นผิวหนังอักเสบ และการติดเชื้อที่ระบบอื่นๆ เช่น ช่องปากและเหงือก และเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ทั้งนี้การใช้โพรไบโอติคส์สำหรับประโยชน์เหล่านี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย และยังไม่มีข้อมูลจากงานวิจัยที่รองรับเพียงพอ  

โพรไบโอติคส์พบได้แพร่หลายในอาหารจำพวกโยเกิร์ต นม ชีส อาหารหมักดอง รวมถึงในรูปแบบอาหารเสริมและยาไม่ว่าจะเป็นแคปซูลหรือผง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกแหล่งของโพรไบโอติคส์ที่ต้องการได้ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดจากการรับประทานโพรไบโอติคส์ ควรคำนึงถึงชนิดของจุลินทรีย์ จำนวนจุลินทรีย์ รวมถึงวิธีการเก็บรักษาเพื่อคงสภาพเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีไว้  


โพรไบโอติคส์จัดได้ว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับการใช้ แต่ในกลุ่มคนบางประเภทที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายน้อยกว่าคนปกติ เช่นคนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหญ่ การรับประทานโพรไบโอติคส์อาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ การดื้อยาฆ่าเชื้อหรือได้รับอันตรายจากการใช้โพรไบโอติคส์ได้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเอ็กซ์ต้าพลัสใกล้บ้าน ก่อนพิจารณาใช้โพรไบโอติคส์ 


References 

1. https://www.webmd.com/digestive-disorders/what-are-probiotics#:~:text=Probiotics%20are%20live%20bacteria%20and,help%20keep%20your%20gut%20healthy

2. https://www.health.harvard.edu/vitamins-and-supplements/health-benefits-of-taking-probiotics 

3. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/14598-probiotics 

4. https://www.nccih.nih.gov/health/probiotics-what-you-need-to-know 

5. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/22/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B9%8C-Probiotics/