27.0 k


อาการเจ็บคอ เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอ เช่น มีการอักเสบที่ผนังช่องคอ เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล โคนลิ้นหรือกล่องเสียง โดยผู้ป่วยจะมีความเจ็บและระคายเคืองลำคอ อาการเจ็บคอมีอาการแสดงหลากหลาย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะมีอาการแตกต่างกัน ได้แก่  

• เจ็บ แสบ ระคายเคืองในลำคอ ซึ่งมักจะเป็นมากเมื่อมีการกลืนน้ำลาย กลืนน้ำ และอาหาร หรือเมื่อมีการพูด 

• คอแห้ง เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน มีอาการปวดร้าวที่หูเมื่อมีการกลืนหรือพูด  

• มีการอักเสบที่เยื่อบุลำคอ โดยสังเกตจากเยื่อบุลำคอมีสีแดง บวม อาจมีตุ่มแดง จุดหนองสีขาว หรือฝ้าอยู่ในตามอวัยวะต่างๆ ในช่องปาก เช่นที่ ต่อมทอนซิล 

• ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น และเจ็บเมื่อกด  

• อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นไข้ ตาแดง ไอ น้ำมูกไหล เป็นต้น  


สาเหตุของการเจ็บคอ 

การเจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน การสูบบุหรี่ การใช้เสียงที่มากเกินไป และการตะโกน มีสิ่งแปลกในลำคอ การสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเช่นควัน ฝุ่น สารเคมี แอลกอฮอล์ หรือการได้รับยาบางชนิดเช่นยาเคมีบำบัด  


การรักษาอาการเจ็บคอ 

การบรรเทาอาการเจ็บคอสามารถใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม รวมถึงต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ  

ยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอมีหลายกลุ่ม ซึ่งสามารถเลือกใช้ตามอาการที่มี และจากสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บคอ ได้แก่ 

• ยาที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง ให้ความชุ่มชื้นที่ลำคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น ยาอม สเปรย์พ่นคอ  

• ยาที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบในลำคอ ใช้ในกรณีที่เจ็บคอ หรือมีการอักเสบมาก  

• ยาฆ่าเชื้อ โดยจะใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในลำคอ  

• ยาชาเฉพาะที่ มักจะผสมในยาอมที่ช่วยทำให้รู้สึกชา จึงสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้  


นอกจากยาแล้ว วิธีการปฏิบัติตัวตามด้านล่าง สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอควบคู่กับการใช้ยาได้  

• เลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด อาหารที่ปรุงด้วยการผัด หรือทอดเพื่อลดอาการระคายเคืองคอ  

• ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้วเพื่อให้ความชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคืองคอ 

• ไม่รับประทานอาหารที่เย็น เช่น ไอศครีม น้ำแข็ง เครื่องดื่มที่เย็น เพื่อบรรเทาอาการไม่สบายคอ 

• หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว งดการตะโกน ตะเบ็ง  

• งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ 

• กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ และช่วยทำความสะอาดช่องปากให้สะอาด 

• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่ทีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด 

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่เย็นมาก เช่น นอนเปิดแอร์ หรือใช้พัดลมเป่าเนื่องจากจะทำให้อากาศแห้ง ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ลำคอมากขึ้น 

• หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และกำจัดสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ  


ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการตามด้านล่าง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุเพิ่มเติม และทำการรักษา 

• เจ็บคอรุนแรง เป็นเรื้อรังมากกว่า 1 สัปดาห์  

• มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก  

• ไม่สามารถอ้าปาก หรือขยับปากได้ กลืนลำบาก ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้  

• มีอาการปวดหู หูอื้อหรือปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกายร่วมด้วย  

• มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีผื่นขึ้น  

• มีเลือดปนออกมากับเสมหะ หรือน้ำลาย  

• คลำพบก้อนที่ลำคอ  

• มีอาการเจ็บคอบ่อยๆ เป็นๆหายๆ  



References 

1. Antibiotic Prescribing and Use: Sore Throat. Centers for Disease Control and Prevention. Accessed on May 24, 2021 via https://www.cdc.gov/antibiotic-use/sore-throat.html 

2. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน. เจ็บคอ...จะแย่แล้ว. ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย. 30.09.2013. Accessed on May 24, 2021 via http://www.rcot.org/2016/People/Detail/182 

3. อาการเจ็บคอ แต่ไม่ได้เป็นหวัด คืออะไร. ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. 22 มิถุนายน 2560. Accessed on May 24, 2021 via http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=2030