เพราะการรักษาระยะห่างจาก COVID-19 นั้นสำคัญ การทำงานจากที่บ้าน (Work from home: WFH) และการเรียนจากที่บ้าน (Study from home) จึงเป็นกิจกรรมที่หลายๆ คนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการ WFH ก็เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพหลากหลาย ทั้งอาการปวดเมื่อยคอบ่าไหล่จากโรค Office Syndrome, อาการตาไม่สบายจากการจ้องมองคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน รวมถึงอาการไม่สบายท้อง
ปัจจุบันจำนวนคำถามสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการไม่สบายท้องเพิ่มมากขึ้น[1] ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งการ WFH และการคลาย Lockdown ที่ร้านอาหารต่างๆ สามารถเปิดให้บริการการทานที่ร้านได้ บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการไม่สบายท้องจากการ WFH กันค่ะ
โรคกรดเกินในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน
การทำงานรวมถึงการเรียนจากที่บ้าน ทำให้เรามีอิสระทางเวลามากขึ้น ทำให้เราตื่นสายขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง รวมถึงมีการเลิกงานที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งส่งผลทำให้เรา “ลืม” ที่จะรับประทานอาหารให้ตรงเวลา นอกจากนี้ การ WFH ยังลดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดิน ส่งผลให้มีการใช้พลังงานที่ลดลง จึงทำให้หลายๆ คนควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทาน โดยลดมื้ออาหารลง ซึ่งการลดมื้ออาหาร หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา เป็นสาเหตุหลักของโรคกรดเกินในกระเพาะอาหารค่ะ เพราะกรดในกระเพาะอาหารเรา ในช่วงแรกๆ จะยังหลั่งตามเวลาปกติถึงแม้เราจะไม่ได้รับประทานอาหารเข้าไป ส่งผลทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร และอาการอื่นๆ ได้แก่
• ปวดแสบร้อนท้อง จากภาวะกรดเกิน
• ท้องอืด แน่นเฟ้อ เนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป
• อุจจาระมีสีดำเข้ม ในกรณีที่มีแผลกระเพาะอาหารและลำไส้
ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาให้รวดเร็ว ก็จะก่อให้เกิดความไม่สบายตัว ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และยังอาจทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงตามมา เช่น โรคมะเร็งในทางเดินอาหาร
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารแล้วนอน ก็ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคกรดไหลย้อน หนึ่งในโรคที่เรารู้จัก และพบคนที่เป็นโรคนี้จำนวนมาก โดยคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีปวดแสบร้อนท้อง ท้องอืด แน่นเฟ้อ และยังมีอาการเรอเปรี้ยว แสบร้อนยอดอกร่วมด้วย
การป้องกันและรักษา
อาการปวด แสบ ไม่สบายท้อง เรอเปรี้ยว แสบร้อนยอดอก รวมถึงอาการจุกเสียดแน่นท้อง สามารถบรรเทาได้โดยใช้ยาลดกรดที่มีขายตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย เพื่อช่วยเสริมการรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ในอนาคต ได้แก่
• รับประทานอาหารให้ตรงเวลา โดยอาจตั้งเวลาไว้เพื่อไม่ให้ลืมมื้ออาหาร
• ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ให้ปรับลดปริมาณอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อลง หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ แต่ไม่งดมื้ออาหาร
• ลดการรับประทานอาหารจุกจิกระหว่างมื้ออาหาร
• รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
ภาวะอาหารไม่ย่อย
นอกจากโรคกรดไหลย้อน และกรดเกินในกระเพาะอาหารแล้ว อาการอาหารไม่ย่อยก็เป็นหนึ่งในอาการที่พบมาก จากการคลายมาตรการ Lockdown ทำให้ร้านอาหารต่างๆ รวมถึงร้านบุฟเฟต์เปิดให้บริการนั่งทานในร้านได้ เนื่องจากเวลาอยู่บ้าน หลายคนมีการรับประทานอาหารที่ปริมาณน้อยลง ทำให้ร่างกายมีการปรับตัว เมื่อไปรับประทานอาหารปริมาณที่มากๆ ทำให้อาจจะมีการย่อยอาหารที่น้อยลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะอาหารไม่ย่อย มีอาการจุกเสียด แน่นท้อง
เพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย สามารถรับประทานเอนไซม์ช่วยย่อย หลังจากรับประทานอาหารมื้อหลักได้ ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เพิ่มปริมาณกากใยอาหาร และอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
1. ข้อมูลการใช้งาน application ALL PharmaSee เดือนกันยายน 2564
2. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ประเทศไทย พ.ศ. 2563
3. AGG and CAG Clinical Guideline: Management of Dyspepsia, The American Journal of Gastroenterology, July 2017, Vol. 112, Issue 7