ในยุคที่เราต้อง Work From Home ต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และในการทำงานที่บ้านนานๆ สิ่งที่อาจตามมาคือ ปัญหาสุขภาพ และปัญหายอดฮิตในขณะนี้คือ ปัญหาสายตาที่เกิดจากการจ้องมองหน้าจอนานๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอมือถือ ทำให้เกิด Computer Vision Syndrome (CVS) โดยจะมีอาการ ตาแห้ง เนื่องจากการเพ่งหน้าจอเป็นเวลานานๆ จะทำให้อัตราการกระพริบตาลดลง จึงเกิดอาการตาแห้งได้ แสบตา น้ำตาไหล เกิดการระคายเคือง ตาพร่า ปวดกระบอกตา รวมไปถึงอาการปวดไหล่ปวดคอ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน
การป้องกัน
1. ปรับแสงในพื้นที่การทำงานให้มีปริมาณเหมาะสม ไม่จ้า และมืดจนเกิน เนื่องจากแสงที่ไม่เหมาะสมนั้นจะทำให้ดวงตาอ่อนล้าได้ไวขึ้น
2. ปรับโต๊ะทำงาน โดยที่สายตาควรอยู่ห่างจากจอประมาณ 35-40 นิ้ว และตรงกลางจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 5-6 นิ้วเพื่อลดอาการไม่สบายตา
3. ใช้แผ่นกรองแสงคอมพิวเตอร์ เพื่อกรองรังสีที่เป็นอันตรายต่อดวงตา
4. การพักสายตาระหว่างการทำงานที่จอคอมพิวเตอร์บ่อยๆ โดยใช้กฏ 20-20-20 คือการพักสายตาทุกๆ 20 นาที โดยมองไปที่ไกลๆ ประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อพักสายตา และมีการยืดเหยียดทุกวันเพื่อลดอาการปวดบริเวณ คอ บ่า ไหล่
การรักษา
เมื่อมีอาการตาแห้ง สามารถใช้น้ำตาเทียมในรูปแบบสารละลาย เพื่อลดการระคายเคืองจากตาแห้งได้ และหากมีอาการตาแห้งระดับปานกลางถึงรุนแรง แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมในรูปแบบขี้ผึ้ง หรือ Ointment จะให้ความชุ่มชื่นแก่ดวงตาได้ยาวนานกว่าแบบสารละลาย แต่ถ้าหากมีอาการปวดตา ปวดหัว และแสบตามากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ปัญหา Computer Vision Syndrome CVS) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยเฉพาะช่วงที่ต้องทำงาน Work From Home ช่วงนี้ก็จะทำให้เกิด CVS ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการปรับสถานที่ทำงานให้มีความเหมาะสม การพักสายตา ก็เป็นอีกวิธีการดูแลตนเองง่ายๆ เพื่อห่างไกลโรคตาติดจอค่ะ
References
1. รศ.นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, 2021. โรคในออฟฟิศ. [online] Si.mahidol.ac.th. Available at: <https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=711> [Accessed 4 October 2021].
2. Watson, S., 2021. Computer Vision Syndrome: Too Much Screen Time?. [online] WebMD. Available at: <https://www.webmd.com/eye-health/computer-vision-syndrome> [Accessed 4 October 2021].
3. KY Loh, S., 2021. Understanding and Preventing Computer Vision Syndrome. [online] PubMed Central (PMC). Available at: <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4170366/> [Accessed 4 October 2021].