อาการท้องอืด คือ ความรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้อึดอัดไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วการมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารนั้นอาจเกิดจากการกินอาหาร ทั้งลักษณะอาหาร และชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด
การใช้สมุนไพรเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการบรรเทาอาการท้องอืดให้ดีขึ้นได้ โดยสมุนไพรที่ช่วยในช่วยบรรเทาอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ได้แก่
• ขิง
เป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน จึงมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ อาการจุกเสียด อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน
ข้อควรระวัง : ระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่มและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
• ขมิ้น
มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องร่วง แก้โรคกระเพาะ
ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
• กระชาย
มีสรรพคุณ แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดมวนท้อง ช่วยขับลม บำรุงกำลัง
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต หญิงตั้งครรภ์
• โกฐน้ำเต้า
สรรพคุณ ช่วยขับลม แก้อาการอาหารไม่ย่อย ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร
ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือมีอาการปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
• สะระแหน่
สรรพคุณ ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดอาการหดเกร็งของลำไส้ ช่วยขับลมในลำไส้และช่วยในการย่อยอาหาร
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Achlorhydria) ไม่ควรรับประทานน้ำมันสะระแหน่
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ด หรืออาหารสำเร็จรูป
2. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
3. ไม่รับประทานอาหารครั้งละมากเกินไป
4. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อ้างอิง
1. โรงพยายาบาลสมิตติเวช บทความสุขภาพ “ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้ โดย พญ. เบญจรัตน์ พร้อมจรรยากุล
https://www.samitivejhospitals.com/th
2. DISTHAI ดิสไทย เว็บไซต์ให้ข้อมูลด้านสมุนไพรและงานวิจัยสมุนไพรต่างๆ
https://www.disthai.com/