3.3 k


เดือนแห่งความรักได้กลับมาอีกครั้ง นอกจากความรักที่เรามี และมอบให้กับคนที่เรารักแล้ว เรายังต้องรู้จักที่จะรักตัวเอง ซี่งการเรียนรู้เรื่องการคุมกำเนิดก็เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง 


บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับการคุมกำเนิดในแบบต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้เราสามารถตัดสินใจเลือกใช้การคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด  


การคุมกำเนิด นอกจากจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมแล้ว การคุมกำเนิดบางประเภทยังสามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ โดยการคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่  


1. การคุมกำเนิดถาวร หรือการทำหมัน เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการตัดท่อนำอสุจิในเพศชายและและการตัดท่อนำไข่ในเพศหญิง  

2. การคุมกำเนิดชั่วคราว เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ต้องการมีบุตรในขณะที่ทำการคุมกำเนิด แต่สามารถกลับมามีบุตรได้หลังจากยุติการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสีย และประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน  


ประเภทของการคุมกำเนิดชั่วคราว

1. การใช้ถุงยางอนามัย  

การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก สามารถเลือกได้ทั้งถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายและเพศหญิง นอกจากการคุมกำเนิดแล้ว การใช้ถุงยางอนามัยยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย  

ถุงยางอนามัยมีความแตกต่างกันทั้งในวัสดุที่ใช้ ซึ่งมีทั้งยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ที่เหมาะสำหรับคนที่แพ้ถุงยาง ใช้แล้วมีอาการผื่นคัน นอกจากนี้ยังแตกต่างกันในขนาดและลักษณะทางกายภาพ เช่น สี กลิ่น แต่ทั้งนี้การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 98% เมื่อใช้อย่างถูกวิธี ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งต้องตรวจสอบดังนี้ 

• เลือกขนาดของถุงยางอนามัยให้เหมาะสม 

• ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน ห้ามใช้งานถุงยางอนามัยที่หมดอายุแล้ว 

• ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้งาน ต้องไม่ฉีกขาด ดังนั้นการเก็บรักษาจึงสำคัญ ไม่ควรเก็บในที่ที่ร้อนจัดเช่น ในรถ เป็นต้น  

• สวมและถอดถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี โดย ไม่สวมถุงยางอนามัยช้าเกินไป และ ไม่ถอดหลังจากอวัยวะเพศอ่อนตัว  

• ห้ามใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ  


2. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 

เมื่อดูตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ยาเม็ดคุมกำเนิดมี 2 ประเภท ได้แก่  

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ที่ต้องใช้เป็นประจำเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังออกฤทธ์ช่วยปรับรอบเดือน ลดอาการปวดประจำเดือน ลดอาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือน ที่เรียกว่า PMS ปรับฮอร์โมน จึงนำมาใช้ในการรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) นอกจากนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดบางยี่ห้อยังใช้ในการรักษาภาวะขนดก สิว ผิวมัน ที่เกิดจากการมีฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไป  

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีส่วนประกอบสำคัญ คือ ฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ที่ออกฤทธิ์คุมกำเนิดหลากหลายกลไก ได้แก่ การยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว และปรับสภาวะเยื่อบุมดลูกไม่ให้เหมาะกับการฝังตัวของไข่  

 

วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ในเวลาเดียวกันทุกวัน  

• โดยถ้าเป็นยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด ให้รับประทานติดต่อกัน 21 วัน และหยุดรับประทานยา 7 วัน โดยในช่วงที่หยุดรับประทานยา จะมีประจำเดือนมา และสามารถเริ่มยาแผงถัดไปหลังจากหยุดยาได้ 7 วัน (หรือในวันที่ 8 ที่หยุดรับประทานยา) โดยไม่ต้องสนใจว่า ประจำเดือนจะหมดแล้วหรือไม่  

• การใช้ยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด จะมีตัวยา 21 เม็ดและเป็นเม็ดแป้ง 7 เม็ด เหมาะสำหรับผู้ที่มักจะลืมรับประทานยา วิธีรับประทานคือให้รับประทานยาติดต่อกันทุกวัน และขึ้นแผงใหม่ทันที เมื่อรับประทานยาหมด โดยในช่วงเม็ดแป้งจะมีประจำเดือนมา  

• นอกจากนี้ ยังมียาคุมกำเนิดที่มียาฮอร์โมน 22 เม็ด และ 24 เม็ด และมีเม็ดแป้ง 6 และ 4 เม็ดตามลำดับ ซึ่งก็มีวิธีการรับประทานยาที่เหมือนกัน คือรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน 


**สำหรับการเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดแผงแรก ให้เริ่มรับประทานวันที่ 1-5 หลังจากประจำเดือนมาวันแรก และแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยร่วมด้วย จนกว่าจะใช้ยาหมดแผง** 

 

การลืมทานยาคุมกำเนิด

• การลืมใช้ยาคุม 1 เม็ด ให้รับประทานยาคุม 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดที่เหลือตามปกติ  

• การลืมใช้ยาคุมกำเนิด 2 เม็ด 

o ถ้าเป็น 2 สัปดาห์แรก ให้รับประทานยาคุมกำเนิดครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 2 วัน หลังจากนั้นให้ใช้วันละ 1 เม็ดจนหมดแผง  

o ถ้าเป็นสัปดาห์ที่ 3 ให้หยุดยา รอประจำเดือนมาแล้วเริ่มยาคุมแผงใหม่ โดยต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยขณะมีเพศสัมพันธ์ 

• การลืมใช้ยาคุมกำเนิด 3 เม็ด ให้หยุดยา รอประจำเดือนมาแล้วเริ่มยาคุมแผงใหม่ โดยต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยขณะมีเพศสัมพันธ์ 

 

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ตึงเต้นเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม เลือดออกกระปริบกระปรอย ซึ่งถ้ามีอาการข้างเคียงมาก แนะนำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อปรับชนิดของยาให้เหมาะสม 

 

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน แนะนำให้ใช้เมื่อฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ในกรณีถูกข่มขืน ถุงยางอนามัยชำรุด ไม่ควรใช้เป็นประจำเนื่องจากประสิทธิภาพการคุมกำเนิดไม่ดีเท่าการใช้ฮอร์โมนรวม นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงมาก ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ประจำเดือนมาผิดปกติ เลือดออกกระปริบกระปรอย เป็นต้น 


3. การใช้ยาฉีดและยาฝังคุมกำเนิด เป็นอีกหนึ่งในวิธีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ฮอร์โมน มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง เนื่องจากลดความเสี่ยงในการลืมทานยา ซึ่งผู้ที่สนใจการคุมกำเนิดวิธีนี้สามารถปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพิ่มเติม 

4. การใช้ห่วงคุมกำเนิด คือการใช้อุปกรณ์ใส่ไปที่โพรงมดลูก ทำให้ไข่ไม่สามารถฝังตัวได้ ห่วงคุมกำเนิดบางชนิดมีผสมทองแดงที่ช่วยฆ่าเชื้ออสุจิ หรือผสมฮอร์โมนที่มีกลไลเพิ่มเติมในการยับยั้งการตกไข่ และทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ผู้ที่สนใจการคุมกำเนิดวิธีนี้ สามารถปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพิ่มเติม 

 

เอกสารอ้างอิง

1. Condoms, Your contraception guide, NHS.UK. 12 October 2020 Retrieved from https://www.nhs.uk/conditions/contraception/male-condoms 

2. แพทย์หญิงธันยารัตน์ วงศวนานุรักษ์. การคุมกำเนิด (ตอนที่ 1). Siriraj E-Public Library. Faculty of Medicine Siriraj Hospital. Retrieved from https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=575

3. Contraception. Reproductive Health. CDC. Retrieved from https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/