1.4 k


ในปัจจุบันหากพูดถึงคอนแทคเลนส์ คงจะเป็นไอเทมที่ทุกคนแทบจะรู้จักกันดี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง หรือแม้แต่นิยมใส่เพื่อความสวยงามของดวงตา สิ่งที่ขาดไม่ได้ตามมาก็คือ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เพราะหากเราทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ไม่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้  


น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ 

1. ชนิดล้าง แช่ และกำจัดโปรตีนในขวดเดียว น้ำยาชนิดนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากสะดวก ใช้งานง่าย ขณะล้างควรใช้นิ้วมือถูเพื่อช่วยล้างคราบโปรตีนออกจากคอนแทคเลนส์อีกทางหนึ่ง 

2. ชนิดล้าง แช่ และกำจัดโปรตีนแบบแยกขวด เหมาะกับคอนแทคเลนส์ที่ใช้เป็นประจำ น้ำยาชนิดนี้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์จะต้องล้างน้ำยาออกให้หมด เพื่อป้องกันการระคายเคืองและอาการแสบตา 

3. ชนิด Hydrogen Peroxide จะมีการแยกน้ำยาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ก่อนการฆ่าเชื้อ ส่วนที่สองจะเป็นน้ำยาเฉพาะ โดยน้ำยาชนิดนี้ไม่ค่อยสะดวกเพราะใช้เวลานานและต้องแช่ตามเวลาที่กำหนดจึงจะนำมาใช้ได้ ถ้าแช่ไม่ครบกำหนดแล้วนำออกมาใช้ทันทีจะทำให้เกิดการระคายเคือง เจ็บตา และแสบตาได้เช่นกัน 


วิธีการใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ให้ปลอดภัย 

o ทำความสะอาดตลับเลนส์ และฝาตลับด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์  

o ล้างมือ และเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดก่อนสัมผัสเลนส์ 

o เริ่มต้นด้วยตาข้างใดข้างหนึ่งเสมอ เพื่อป้องกันการสลับข้าง 

o ถอดเลนส์วางบนฝ่ามือ หยดน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ประมาณ 3 หยดบนเลนส์ทั้ง 2 ด้าน ถูเลนส์เบาๆ ในแนวตั้ง ขึ้น-ลง ข้างละ 10 วินาที 

o ชะล้างเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์โดยใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ ถูเลนส์ไปมา และบีบน้ำยาผ่านเลนส์ 

o เติมน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ ให้เต็มตลับ และใส่เลนส์ลงไป ปิดฝาให้แน่น ทำซ้ำกับเลนส์อีกข้าง 

o แช่เลนส์อย่างน้อย 4 ชั่วโมง หลังจากนั้น เลนส์ก็จะสะอาด และสามารถใส่ได้อย่างปลอดภัย 

o หากเป็นคอนแทคเลนส์แบบสี ก็ควรเลือกน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์สำหรับเลนส์สี เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์กัดกร่อนสีของคอนแทคเลนส์  

o และหากน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์มีการเติมสารให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น Hypromellose ก็จะช่วยให้ดวงตาระคายเคืองน้อยลงด้วย 

o ควรเปลี่ยนน้ำยาใหม่ทุกครั้ง ห้ามนำน้ำยาที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำอีก อย่าแตะปากขวดเพราะอาจทำให้น้ำยาสกปรกได้ 

o เก็บน้ำยาที่อุณหภูมิห้อง เลี่ยงความร้อน ไม่ใช้น้ำยาจากขวดที่เปิดใช้แล้วเกิน 6 เดือน 

o เพราะเราอยากรักษาดวงตาคู่สวยนี้ ให้อยู่กับเราไปนานๆ 


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ



เอกสารอ้างอิง

1. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. คอนแทคเลนส์ ภัยใกล้ตา. 2558 

[อัพเดต 18 ตุลาคม 2558; สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565] 

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภัทนี สามเสน. ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย.2554; สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565 

3. รศ.(พิเศษ)นพ.ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์.พฤติกรรมเสี่ยงควรเลี่ยงเมื่อใช้คอนเทคเลนส์.2562; สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565 

4. กองบรรณาธิการ HD. วิธีการเลือกน้ำยาล้างและแช่คอนแทคเลนส์ ประเภท วิธีการดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อลดอาการระคายเคืองและลดอาการตาแห้ง[อินเทอร์เน็ต]. 2553[อัพเดต 17 พฤศจิกายน 2563; สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565]