4.6 k

จริงหรือไม่ ยาฆ่าเชื้อคือยาแก้อักเสบ  

ไม่จริง ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (antibiotics) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ปอดติดเชื้อ แผลติดเชื้อ มีความแตกต่างจากยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory agents) ที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด บวม แดง ร้อน  

 

จริงหรือไม่ ยาฆ่าเชื้อทานได้บ่อยๆ ไม่อันตราย 

ไม่จริง การใช้ยาฆ่าเชื้อ ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ใช้ กับโรคที่เป็น และต้องใช้ให้ถูกต้อง การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างพร่ำเพื่ออาจทำให้เกิดอันตรายได้ จากสาเหตุดังนี้  

• อันตรายจากการแพ้ยา ในคนที่แพ้ยาฆ่าเชื้อประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีอาการผื่นคัน ตาบวม ปากบวม หรือถ้ารุนแรงอาจทำให้อาการหายใจแน่นติดขัดทำให้เสียชีวิตได้  

• อันตรายจากอาการข้างเคียงของยา โดยยาฆ่าเชื้อแต่ละประเภท มีอาการข้างเคียงที่แตกต่าง เริ่มจากทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง ที่รุนแรงอื่นๆ ตามมา

• อันตรายจากการเกิดโรคแทรกซ้อน ยาฆ่าเชื้อบางชนิดออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว้างมาก ทั้งแบคทีเรียก่อโรค และแบคทีเรียชนิดดีในร่างกาย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากเชื้อฉวยโอกาสตัวอื่นๆ ได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบรุนแรง หรือโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา  

• อันตรายจากการเกิดเชื้อดื้อยา การใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียพร่ำเพรื่อ อาจกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ ทำให้ยาฆ่าเชื้อเดิม ไม่สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ จึงต้องใช้ยาฆ่าเชื้อตัวใหม่ที่มีราคาแพงขึ้น และยังทำให้เหลือยาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้ในอนาคตเชื้อโรคดื้อต่อยาฆ่าเชื้อที่มีจนหมด จนไม่เหลือใช้ในการรักษา  

 

จริงหรือไม่ ยาฆ่าเชื้อต้องทานติดต่อให้หมดจนจบการรักษา 

 จริง เมื่อเริ่มรับประทานยาฆ่าเชื้อ ต้องทานติดต่อกันจนหมดเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา  

 

จริงหรือไม่ เจ็บคอทุกครั้งต้องทานยาฆ่าเชื้อ  

ไม่จริง การเจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการอักเสบของเยื่อบุผนังคอ แผล และการติดเชื้อที่มีทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบว่า 80-90% ของการติดเชื้อเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในการรักษา  

 

จริงหรือไม่ ท้องเสียเมื่อไร ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ  

ไม่จริง ท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น อาหารเป็นพิษ จากการได้รับสารพิษจากเชื้อโรค อาหารหรือยาบางชนิด ที่กระตุ้นการขับถ่าย ภาวะการทำงานของลำไส้ที่แปรปรวน โรคบางชนิดที่ทำให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ และการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยท้องเสียมากกว่า 90% จะหายได้เองใน 3-4 วันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ  

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากไม่ได้ลดจำนวนสารพิษ แต่ใช้การรักษาตามอาการแทน  


จริงหรือไม่ เป็นแผลแล้วต้องรีบทานยาฆ่าเชื้อ 

ไม่จริง เมื่อมีแผลที่ขนาดเล็กและไม่ลึกมาก ขอบเรียบ ไม่มีเนื้อตายและไม่ปนเปื้อนสิ่งที่อาจสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เศษอาหาร ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ และดูแลรักษาความสะอาด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งชนิดรับประทาน และชนิดทา แต่ถ้าแผลมีขนาดใหญ่และลึก หลังจากล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือแล้ว จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง 


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ


เอกสารอ้างอิง

1. โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ. 2555 

2. คณะทำงานวิชาการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผลในร้านยา. การใช้ยาสมเหตุสมผลในร้านยา Rational Drug Use in Community Pharmacy: RDU Pharmacy. 2560 

3. Thitima. ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.). 2014