3.3 k


กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นหนึ่งในอาการหลักของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ พบได้บ่อยในคนไทย กลุ่มนักศึกษา และวัยทำงานโดยเฉพาะเพศหญิง เนื่องจากพฤติกรรมและสรีระที่รูปทวารอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ และท่อปัสสาวะที่สั้นทำให้แบคทีเรียจากทวารหนักไหลย้อนกลับเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น นอกจากนี้การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะยังเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้


• การกลั้นปัสสาวะ

• การทำความสะอาดหลังขับถ่ายไม่ถูกต้อง 

• การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด หรือท่อช่วยปัสสาวะ 

• การใช้ห่วงอนามัย 

• การมีเพศสัมพันธ์

• การตั้งครรภ์

• การดื่มน้ำน้อย 

• โรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน 

• การรบกวนสมดุลของแบคทีเรียที่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะ เช่นเมื่ออยู่ในภาวะหมดประจำเดือน การใช้สารเคมี หรือสบู่สวนล้างช่องคลอด รวมถึงการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยากดภูมิคุ้มกัน รังสี ยาเคมีบำบัด 


อาการแสดง ของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีหลากหลาย ได้แก่ 

o มีอาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะ 

o ปัสสาวะกะปริบกะปรอย 

o ปัสสาวะมีสีเข้ม สีขุ่น หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติจากเดิม 

o ปวดบิดเกร็งบริเวณท้องน้อย 

o รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว 


การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ร่วมกับการใช้ยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ เช่นยาแก้ปวดบิดเกร็งท้อง ดังนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ


 

สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้ 

o ดื่มน้ำเปล่าวันละอย่างน้อย 1.5 ลิตร เพราะทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปตามปกติ 

o หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ฝึกสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการขับถ่าย  

o การทำความสะอาดหลังขับถ่าย ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียจากรูทวารปนเปื้อนที่ท่อปัสสาวะ 

o ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการล้างโดยสบู่ และใช้สารเคมีบริเวณจุดซ่อนเร้น เนื่องจากจะรบกวนสมดุลแบคทีเรียบริเวณท่อปัสสาวะ ทำให้แบคทีเรียก่อโรคออกฤทธิ์ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 

o ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อขับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคออกจากร่างกาย 

o รักษาร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด 


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ถึงแม้จะเป็นโรคที่เกิดได้บ่อย แต่การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ และยังช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ถ้าหากมีอาการของโรค เช่นปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือปวดบิดเกร็งช่องท้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเอ็กซ์ต้า พลัส ใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่ทันท่วงที 


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

1. Cystitis. NHS inform. 13 February 2023

2. รศ.นท.ดร. สมพล เพิ่มพงศ์โกศล. เอกสารประกอบการสอนการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ 


อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ