โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ได้ยินบ่อยขึ้นในช่วง 5 ปีให้หลังนี้ ทั้งจากข่าว จากโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ รวมถึงหลาย ๆท่านอาจมีคนรอบข้างพูดถึงโรคนี้บ่อยมากขึ้น บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าว่าคืออะไร เกิดได้จากอะไร และอาการแสดงเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่า ตัวเองและคนรอบข้างมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ รวมถึงวิธีจัดการกับโรคซึมเศร้าเบื้องต้น
โรคซึมเศร้าเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ ปัจจัยทางร่างกายที่มีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความสูญเสีย การเจ็บป่วย การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง การไม่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งของสารเคมีที่ช่วยควบคุมอารมณ์ในสมอง รวมถึงยาบางประเภท
นอกจากนี้โรคบางโรครวมถึงการคลอดลูกก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าคุณแม่ 1 ใน 6 หลังจากคลอดประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
เมื่อเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมา 3 ด้านคือ
• ด้านการแสดงอารมณ์ จะพบเป็นส่วนมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งจะมีอารมณ์ที่หดหู่ เบื่อหน่าย ขาดความสนใจในกิจกรรมต่างๆถึงแม้ว่าเป็นกิจกรรมที่เคยชอบทำ
• ด้านร่างกาย เช่นอาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไป อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร
• ด้านความจำ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายราย มีความจำที่แย่ลง ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
หลาย ๆ ท่านน่าจะมีคำถามว่า แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เบื้องต้นสามารถประเมินจากการถามคำถามกับตัวเอง 2 ข้อ คือ
1. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมวันนี้ คุณมีความรู้สึกหดหู่ เศร้า ท้อแท้ หรือสิ้นหวังหรือไม่
2. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมวันนี้ คุณรู้สึกเบื่อ ทำกิจกรรมอะไรแล้วไม่เพลิดเพลินหรือไม่
ถ้าคำตอบคือไม่มีทั้ง 2 ข้อ สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่ายังคงเป็นปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าตอบ มี ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้อ หมายถึงมีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำการประเมินความรุนแรงด้วยตัวเองโดยใช้แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ9 ต่อไป
การจัดการโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องรักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าจะมีการใช้การรักษาหลายรูปแบบร่วมกันทั้งการใช้ยาและการรักษาด้านจิตใจ เมื่อมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา โดยสามารถปรึกษาแพทย์ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสภาวะต่าง ๆ ที่กระตุ้นความเครียด หลีกเลี่ยงจากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความหดหู่มากขึ้น หาเวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ ให้กับตัวเองเพิ่มเติม พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 30-45 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ การบอกคนรอบข้างให้ทราบถึงภาวะโรคซึมเศร้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำ เพื่อหาคนที่เข้าใจและสามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง
โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป การประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเองโดยการตั้งคำถาม 2 คำถามกับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อที่จะรู้เท่าทันตัวเองและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือไม่ควรเก็บไว้คนเดียวหรือรักษาด้วยตัวเอง การปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก นอกจากนี้คนรอบข้างควรอยู่ข้าง ๆ และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยความเข้าใจ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
1. แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม (2Q). กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
2. แบบประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง (PHQ9). กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
Website: https://exta.co.th/
LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)
Instagram: instagram.com/extaplus
YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ