307

โดย ภญ. จิตประสงค์ หลำสะอาด


ประสบการณ์ด้านอาหาร การได้ลองอาหารใหม่ๆ อาหารพื้นเมือง และการได้สัมผัสรสชาติอาหารที่แปลกใหม่ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ซึ่งอาหารเหล่านั้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวเกิดโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการเดินทาง (Traveler’s diarrhea) ได้ มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือสารพิษทำให้เกิดอุจจาระร่วงตามมา ส่วนใหญ่แล้วจะถ่ายเป็นน้ำและมีอาการปวดท้องร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ อีก เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไข้ ท้องอืด เบื่ออาหาร เป็นต้น


เลือกรับประทานอาหารอย่างไร...ไม่ให้ท้องเสีย

1. การเลือกพิจารณารับประทานอาหารริมทาง

- ที่ตั้งของร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฟุตบาท ทำให้มีความเสี่ยงมาก จากการปนเปื้อนของฝุ่นหรือควันพิษจากท่อไอเสียของยานพาหนะ โดยเฉพาะเมื่อตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารริมฟุตบาท ควรเลือกร้านที่มีอากาศถ่ายเท หรืออยู่ไกลออกจากฟุตบาท และไม่มียานพาหนะพ่นควันจากท่อไอเสียตลอดเวลา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงร้านที่ตั้งอยู่ใกล้ท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งของพาหะนำโรคอย่างหนู แมลงสาบ ในบริเวณใกล้เคียง

- สังเกตความสะอาด เช่น ตู้วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร บริเวณที่ล้างถ้วยชาม ความสะอาดของโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องปรุง

- ควรเลือกร้านอาหารที่ปรุงสุกใหม่ มากกว่าร้านปรุงสุกไว้พร้อมเสิร์ฟ เพราะอาหารเหล่านั้นอาจปรุงสุกไว้นานแล้ว หรืออาจเป็นอาหารค้างมื้อ/ค้างคืนที่นำมาอุ่นซ้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียตามมาได้

2. เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนทั่วถึง (หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวก หรือพล่าสุกๆ ดิบๆ) 

อย่างไรก็ตาม อาหารที่ทิ้งไว้นานๆ หลังปรุงสุก มักเป็นสาเหตุของอาหารท้องเสียได้ง่าย เช่น อาหารทะเล อาหารหรือขนมที่มีกะทิ ขนมจีน ข้าวมันไก่ น้ำแข็ง สลัดผัก

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้สด 

หากเป็นผักผลไม้สดที่มีเปลือกหุ้ม ให้มั่นใจก่อนว่าผักผลไม้เหล่านั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนที่จะนำมารับประทาน

4. ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังทำกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้ง 

(หากไม่สะดวกล้างมือควรพกพาสเปรย์/แอลกอฮอล์เพื่อใช้ทดแทน)


การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อท้องเสียระหว่างการท่องเที่ยว

โรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการเดินทาง (Traveler’s diarrhea) อาจดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ในระหว่างที่กำลังสังเกตอาการอยู่นั้น สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นก่อนได้ เช่น เมื่อมีการถ่ายเหลวและ/หรืออาเจียน ให้จิบน้ำผสมเกลือแร่ (Oral rehydration solution, ORS) หรือหากมีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมเมื่อมีอาการถ่ายเหลวระหว่างการเดินทาง มีข้อแนะนำ ดังนี้

- รับประทานอาหารอาหารอ่อน ย่อยง่าย เพื่อลดการทำงานของลำไส้

- ในเบื้องต้นการใช้ Bismuth subsalicylates ขนาด 30 มิลลิลิตร ทุก 30 นาที รวม 8 ครั้ง สำหรับลดจำนวนการถ่ายเหลวโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ในนักท่องเที่ยว

- การใช้โปรไบโอติกส์ กลุ่มแซคาโรไมซิส (Saccharomyces boulardii; S. boulardii) ลดระยะเวลา และความรุนแรงของอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ การรับประทาน S.boulardii ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 5 วัน จะช่วยป้องกันปัญหาท้องเสียระหว่างเดินทางได้


นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยาเพื่อให้ได้รับยาอย่างสมเหตุสมผล หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้ไปพบแพทย์



เอกสารที่เกี่ยวข้อง

1. RDU Pharmacy Eagle การใช้ยาอย่างสมเหตุผลในร้านยา Antibiotic Smart Use; Complementary Guidance for Community Pharmacist, 2560.

2. Food and Drink Safety white Abroad. https://www.globalsupport.harvard.edu/travel/advice/food-drink-safety-while-abroad


อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ