227

โดย ภญ. จิตประสงค์ หลำสะอาด 


อาการชาที่นิ้วมือ ฝ่ามือ และแขน เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เช่น การกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ที่มีโอกาสพบได้ในพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่ทำงานโดยใช้มือและข้อมือทำท่าเดิมนาน ๆ ทำท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น แม่บ้านทำความสะอาด แม่ครัว ช่างทำผม รวมถึงการมีสิ่งที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกับข้อมือเป็นประจำ เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้า การเล่นกีฬาเทนนิส และมักพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงผู้ที่ขาดวิตามินบี โดยจะมีอาการชาในขณะใช้งาน หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการชาแม้ไม่ได้ใช้งาน และอาจมีอาการปวดตอนกลางคืนได้ ในกรณีที่มีอาการแขนชา อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นประสาทบริเวณต้นคอหรือรักแร้ ซึ่งเกิดได้จากกล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหน้า กล้ามเนื้อใต้กระดูกไหปลาร้า และกล้ามเนื้อหน้าอกทำงานซ้ำ ๆ มากเกินไป เช่น การโน้มศีรษะเมื่ออ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนัก เป็นต้น 


วิธีการป้องกันอาการมือชา

1. ปรับท่าทางการใช้มือให้เหมาะสม ไม่งอข้อมือมากเกินไปในระหว่างทำงาน เมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์ การใช้คีย์บอร์ดแบบเอียงจะช่วยข้อมือและปลายแขนอยู่ในระนาบเดียวกันกับเวลาพิมพ์ และเมื่อต้องใช้เมาส์ควรจับเมาส์ให้ข้อมืออยู่ในท่าตรงปกติ ไม่กระดกข้อมือขึ้น อาจหาผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้ข้อมือ หรือใช้แผ่นรองเมาส์เจลหรือโฟม รองรับบริเวณข้อมือ ในระหว่างทำงานหาเวลาพักการใช้ข้อมือ และสามารถหมุนหรือสะบัดข้อมือได้ในระหว่างที่พัก 

2. บริหารข้อมือโดยการฝึกยืดข้อมือ กระดกข้อมือขึ้นลงช้า ๆ และเบา ๆ จะช่วยลดอาการลงได้ แต่ไม่ควรทำในกรณีที่มีอาการมากหรือมีอาการมานานแล้ว 

3. จัดการกับโรคหรือภาวะที่มีความเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดอาการมือชา เช่น โรคเบาหวาน สามารถปรับพฤติกรรมในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือโรคอ้วน สามารถปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารในการควบคุมน้ำหนัก 

4. รับประทานอาหารที่มีวิตามินบีให้เพียงพอ ซึ่งวิตามินบี1 บี6 บี12 เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อการบำรุงรักษาเส้นประสาท ซึ่งสามารถรับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ได้รับกลุ่มวิตามินบี 1 บี 6 บี 12 ได้เพียงพอ โดยแหล่งของวิตามินบี1 เช่น ข้าวซ้อมมือ เนื้อหมูไม่ติดมัน ตับ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ แหล่งของวิตามินบี 6 เช่น ตับ เนื้อปลา กล้วย ผักต่าง ๆ และแหล่งของวิตามินบี 12 เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย เป็นต้น หรืออาจใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้ได้รับวิตามินบีได้เพียงพอ 


เอกสารอ้างอิง

1. กภ. วีธรา (no date) มีอาการชามือ...สรุปเราเป็นอะไรกันแน่นะ ?, มีอาการชามือ...สรุปเราเป็นอะไรกันแน่นะ ? | ความรู้สู่ประชาชน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล. Available at: https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1787 (Accessed: 21 August 2023). 

2. (No date) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. Available at: http://medinfo2.psu.ac.th/medtech/pdf/12_Orthopaedic%2002.pdf (Accessed: 21 August 2023). 

3. (No date a) วิตามิน สารอาหารตัวเล็กๆแต่คุณค่ามหาศาล บทน า. Available at: https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/vitamin_pakon.pdf (Accessed: 21 August 2023).


สินค้าที่เกี่ยวข้อง

อะลินามิน เอ๊กซ์ พลัส ขนาด 60 เม็ด 329 บาท



อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ