2.5 k


“ทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ท้อง?” นี่คือ หนึ่งในคำถามที่พบได้บ่อยจากผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน บทความนี้จะพาทุกท่านไปหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ และทำความรู้จักกับยาคุมฉุกเฉินให้มากขึ้นค่ะ  


การคุมกำเนิดฉุกเฉินที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีอยู่ 2 วิธีหลัก คือ การใช้ห่วงอนามัยที่ผสมสารช่วยคุมกำเนิด และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของทั้ง 2 วิธีนี้ ก็มีความแตกต่างกัน แต่วิธีที่เป็นที่รู้จักทั่วไปในประเทศไทย คือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเทรล (levonorgestrel) ซึ่งในท้องตลาดมีอยู่ 2 ชนิด คือ  


• ชนิด 2 เม็ดต่อกล่อง จะมีปริมาณยา levonorgestrel เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด โดยให้ทานเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ส่วนเม็ดที่สอง ให้ทานห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง  

• ชนิด 1 เม็ดต่อกล่อง จะมีปริมาณยา levonorgestrel เม็ดละ 1.50 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด โดยให้ทานยาเพียง 1 เม็ดภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะมีความสะดวกเพราะรับประทานเพียงแค่ 1 เม็ดแต่ก็จะมีอาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะเพิ่มขึ้นมาจากขนาดยาที่เพิ่มขึ้น 

 

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินป้องกันการตั้งครรภ์ โดยจะไปชะลอหรือยับยั้งการตกไข่ แต่ไม่ได้ขัดขวางการผสมกันระหว่างไข่กับอสุจิ ดังนั้น การใช้ยาหลังจากไข่ตกจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลงอย่างมาก โดยประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินในการป้องกันการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 79% หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และจะลดเหลือเพียงแค่ 60% หากรับประทานภายใน 72-120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงถึง 99% หากใช้อย่างถูกต้อง  

 

ทราบได้อย่างไรว่าไม่ตั้งครรภ์

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน จะทำให้ประจำเดือนเลื่อนโดยอาจจะมาช้าหรือมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ และอาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์อย่างแน่นอน 

ดังนั้น ยังคงต้องควรตรวจการตั้งครรภ์ โดยตรวจการตั้งครรภ์ในวันที่รอบเดือนครบ 28 วัน ในกรณีที่รอบเดือนมาตรงเวลา หรือถ้ารอบเดือนมาไม่ตรงเวลา ให้ตรวจการตั้งครรภ์หลังจากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป หรือหากมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อยขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นของการตั้งครรภ์ ก็สามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์เมื่อมีอาการดังกล่าวได้ 


จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินต่ำกว่าการคุมกำเนิดโดยวิธีอื่น เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ทั้งระยะเวลาในการเริ่มรับประทานยาเม็ดแรก ช่วงเวลาในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างรอบเดือน ดังนั้น เพื่อลดความล้มเหลวในการคุมกำเนิด จึงควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น ในกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ การที่ถุงยางอนามัยขาดหรือรั่ว เป็นต้น 

 

ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินและการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส เพื่อเลือกการคุมกำเนิดที่เหมาะสมหรือปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ แอปพลิเคชัน ALL PharmaSee ปรึกษาฟรี ได้ตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ


เอกสารอ้างอิง

1. Ulipristal ยาคุมฉุกเฉินชนิดใหม่ที่ต่างจาก levonorgestrel. คลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557. กันยายน 

2. Emergency Contraception. World Health Organization. 2021. November 9 

3. รศ.สุณี เลิศสินอุดม. A review of Emergency contraception pills (ECP). บทความ CPE 


อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ