ภญ. จิตประสงค์ หลำสะอาด
หลายคนอาจเคยมีอาการไม่อยากตื่นนอนในตอนเช้า แต่รู้หรือไม่ว่า หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นบ่อยๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะกำลังมี “อาการเตียงดูด” หรือ “โรคเตียงดูด (Dysania)” แล้วก็ได้ โดยโรคเตียงดูดใช้เรียกผู้ที่ติดเตียงนอน ขอเวลานอนต่อเรื่อยๆ ไม่อยากลุกจากเตียง และทำกิจกรรมต่างๆ บนเตียง เช่น อ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่กินข้าวกินขนม ซึ่งอาจเกิดมาจากความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อคิดว่าจะลุกออกจากเตียง หรืออาจเกิดจากความรู้สึกเหนื่อยล้ามาก ไปจนถึงอาจมีปัญหาทางจิตใจ เช่น มีภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลร่วมด้วย บางครั้งอาจได้ยินในชื่อ Clinomania หรือ Clinophilia ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกันกับ Dysania และสามารถส่งผลรบกวนชีวิตได้อย่างมาก รวมไปถึงส่งผลต่อการเข้าสังคมได้ยากขึ้นด้วย
สาเหตุอาจเกิดได้จาก
o ปัญหาสุขภาพทางกาย เช่น กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome: CFS) ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากลุกขึ้นจากเตียง ถึงแม้จะพักผ่อนแล้วแต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น, กลุ่มอาการปวดตามกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), โรคประจำตัวอื่นๆ อย่างโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง กลุ่มโรคไทรอยด์อย่างไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เป็นต้น
o ปัญหาสุขภาพทางจิต เช่น อาการซึมเศร้า, มีความวิตกกังวล, มีภาวะเครียด, มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง เป็นต้น
o ปัญหาการนอนต่าง ๆ ได้ เช่น โรคง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia), โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (Obstructive sleep apnea) ซึ่งทำให้ตื่นนอนตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ที่นอนหลับไม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนกะการทำงาน, การเดินทางที่ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
ปรับพฤติกรรมอย่างไร เมื่อรู้สึกว่าตัวเองใช้เวลาบนเตียงมากเกินไป!
1. เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาเดิมในทุก ๆ วัน รวมถึงในวันหยุดด้วย และตั้งเป้าการนอนให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมง/คืน
2. ให้เตียงเป็นสถานที่สำหรับการนอนหลับเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นๆ บนเตียง เช่น กินอาหาร ดูโทรทัศน์ ทำงาน เป็นต้น
3. จัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะกับการพักผ่อนเพื่อให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ห้องควรมืด และเงียบปราศจากสิ่งรบกวน และมีอุณหภูมิห้องที่เหมาะสม
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด อย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมงก่อนนอน รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอร์
5. ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำก่อนนอน นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ
6. ออกไปรับแสงแดดตอนกลางวันซึ่งจะส่งผลดีต่อนาฬิกาชีวิต และออกกำลังกายระหว่างวันเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นในตอนกลางคืน
7. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิตเมื่อปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล โดยสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและรบกวนคุณภาพชีวิต แนะนำให้พูดคุยถึงอาการอื่นๆ ที่มีร่วมด้วย เช่น อารมณ์ซึมเศร้า มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันมาก มีอาการเหนื่อยล้า มีความเครียดหรือความกดดันจากการทำงาน เป็นต้น เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Amornvit (no date) Department of Mental Health, -COVID-19 and Mental Health: โควิด-19 กับสุขภาพจิต-. Available at: https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28057 (Accessed: 23 February 2024).
2. Dysania: Symptoms, causes, and treatments (2023) Sleep Foundation. Available at: https://www.sleepfoundation.org/excessive-sleepiness/dysania (Accessed: 23 February 2024).
3. ภาวะเสพติดการนอน (Dysania) ไม่อยากลุกจากเตียง (no date) Empower Living. Available at: https://empowerliving.doctor.or.th/case/1106 (Accessed: 23 February 2024).
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
Website: https://exta.co.th/
LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)
Instagram: instagram.com/extaplus
YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ