209


ปวดท้องเป็นอาการที่พบบ่อยทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอาการปวดท้องมีได้หลายแบบ จำแนกตามอาการ สาเหตุ และยาที่ใช้แตกต่างกันไป ซึ่งหนึ่งในอาการปวดท้องที่พบบ่อยจะเป็นอาการจากระบบทางเดินอาหารเช่น อาการปวดแสบท้องจากกรดเกิน อาการปวดท้องแสบร้อนยอดอกจากกรดไหลย้อน หรืออาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถหาซื้อยากลุ่มลดกรด ขับลมเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ แต่เคยสงสัยไหมคะ ว่ายาลดกรด ขับลมแต่ละชนิดที่มีขายอยู่ สามารถบรรเทาอาการปวดท้องในระบบทางเดินอาหารได้เหมือนกันหรือไม่ เรามีข้อมูลมาให้ค่ะ


1. กรดเกินในกระเพาะอาหาร

อาการที่พบ : ปวด จุกแน่นท้อง แสบ หรือรู้สึกตื้อ อาจเกิดบริวเณใต้ลิ้นปี่ หรือช่องท้องส่วนบนเหนือสะดือ มักเป็นเวลาท้องว่าง อิ่ม หรือหิว

สาเหตุ : กลไกการทำงานของกระเพาะอาหารเสียไป กระตุ้นให้กรดหลั่งเยอะขึ้น เกิดการอักเสบในกระเพาะ

กลุ่มยาบรรเทาอาการ : ยาลดกรด (Antacid) ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide อยู่ด้วยกัน แต่บางยี่ห้ออาจใส่เป็น Sodium Bicarbonate หรือ Calcium carbonate ได้ ซึ่งยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ไว ออกฤทธิ์เร็ว


2. กรดไหลย้อน

อาการที่พบ : ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ มีเรอเปรี้ยว

สาเหตุ : การหย่อนสมรรถภาพของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายที่ติดกับกระเพาะอาหาร

กลุ่มยาบรรเทาอาการ : สามารถใช้กลุ่มยาลดกรด (Antacid) ที่มีส่วนผสมของ Alginate (Anti-reflux agent) สกัดได้จากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะสร้างเป็นแพเจลป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ออกฤทธิ์ได้เร็ว


3. ท้องอืด ท้องเฟ้อ

อาการที่พบ : มีลมหรือก๊าซในท้องมากกว่าปกติ รู้สึกอึดอัด จุกเสียด แน่นท้อง อยากเรอหรือผายลมเพื่อนำก๊าซออกมา

สาเหตุ : มีได้หลายสาเหตุเช่น ทานอาหารเร็ว ผิดเวลา ทานอาหารรสจัด ทานเยอะเกินไป ดื่มน้ำอัดลม หรือเบียร์ นม ถั่ว อาหารไขมันสูง มากเกินไป

กลุ่มยาบรรเทาอาการ : กลุ่มยาที่ช่วยในการขับลม เช่น Simethicone, ยาธาตุน้ำแดง หรือ เอนไซม์ช่วยย่อย 


ควรเลือกใช้ยาบรรเทาอาการให้ตรงกับอาการที่เป็น เช่น หากท้องอืด มีลม หากไปทานยาลดกรดอย่างเดียวที่ไม่มีตัวขับลม ก็จะไม่ช่วยในการบรรเทาอาการ สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของการปฏิบัติตัว รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ทานมากเกินไป ไม่ทานอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ และลดความเครียด ทั้งนี้หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคไต ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมถัดไป



เอกสารอ้างอิง

1. อ.ภก. สมเฮง นรเศรษฐีกุล (2566). กรดไหลย้อน. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส 2566 หัวข้อ “Updates on Drugs Used in Common Diseases in Community Pharmacy”. กรุงเทพฯ.

2. รศ.พญ.มณฑิรา มณีรัตนะพร. โรคกระเพาะอาหารรักษาอย่างไรถึงได้ผลดี. Retrieves on Aug 2 2024, https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/stomach-disease.

3. รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. กรดไหลย้อน...ภัยเงียบวัยทำงาน. Retrieves on Aug 2 2024, https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=726.



อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ