2

ภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นภัยเงียบที่สำคัญ ซึ่งพบว่ากลุ่มประชากรที่มีภาวะการขาดธาตุเหล็กสูง จะเป็นเด็กผู้หญิงและหญิงสาววัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียเลือดขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 


ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) คือภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอที่จำนำไปสร้างเป็นเม็ดเลือดแดง สำหรับสาเหตุนอกจากการมีประจำเดือนในผู้หญิงที่ทำให้สูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติแล้ว การบริโภคอาหารที่ขาดธาตุเหล็กหรือไม่เพียงพอ ผู้ที่มีการดูดซึมธาตุเหล็กผิดปกติ เช่นผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารออก ผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ริดสีดวงทาวรหนัก ก็ทำให้ขาดธาตุเหล็กได้เช่นเดียวกัน 


อาการที่พบจากการขาดธาตุเหล็ก ในระยะแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่หากได้ตรวจเลือดจะพบว่ามีภาวะโลหิตจาง แต่เมื่อถึงจุดที่ธาตุเหล็กในร่างกายถูกใช้ไปหมด จะทำให้มีอาการตัวซีด เหนื่อยงาน อ่อนเพลีย หงุดหงิด เริ่มไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน หายใจลำบากขณะออกแรง มึนงง วิงเวียน ปวดหัว เบื่ออาหาร มีอาการมือเท้าเย็น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หากเป็นรุนแรงอาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนหัวใจล้มเหลว


การรักษาหรือป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก  

การรักษาสามารถให้ธาตุเหล็กในรูปแบบของยารับประทานหรือยาฉีด ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งยารูปแบบรับประทานจะสะดวกจึงนิยมมากกว่า ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำในผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กคือ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน อาการไม่พึงประสงค์อาจพบ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก และอุจจาระเป็นสีดำ แต่สำคัญคือห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย 

สำหรับการป้องกัน สามารถรับประทานอาหารที่ให้ปริมาณธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ เช่น เนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องใน ไก่ ปลา กุ้ง หรือหอย การรับประทานผลไม้โดยเฉพาะผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง จะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือนม พร้อมกับธาตุเหล็ก หรืออาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เนื่องจากอาจขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้


เอกสารอ้างอิง

1. รศ.ดร.ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ และ ผศ.ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. การใช้ธาตุเหล็กแก้ภาวะโลหิตจาง. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/519/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81/

2. Dominder Kaur, MD. (2024). Iron Deficiency is a Huge Problem for Girls. Retrieved on 7 Nov 2024 from https://www.columbiadoctors.org/news/iron-deficiency-huge-problem-girls.

3. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 จาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/anemia/download/?did=200493&id=60179&reload=.





อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ