ภญ.รุ่งนภา ดวงเอ้ย
เมื่อร่างกายไม่สดชื่นมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลง ซึ่ง
สาเหตุอาจมีได้หลายประการดังนี้
- อาการง่วงระหว่างวันอาจมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอลล์ การรับประทานยาบางชนิดก็อาจทำให้ง่วงนอนได้เช่นกัน ซึ่งการง่วงนอนตามปกติมีสาเหตุมาจากสาร Adenosine ที่อยู่ในสมองซึ่งสัมพันธ์กับระดับความง่วง กล่าวคือหากมีสาร Adenosine อยู่มากก็จะทำให้ความรู้สึกง่วงนอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแอลกอฮอล์จะกระตุ้นการทำงานของสารนี้ และคาเฟอีนจะยับยั้งการทำงานของ Adenosine จึงทำให้คลายอาการง่วงได้
- อาการอ่อนเพลีย เป็นอาการทางร่างกายและจิตใจที่พบได้บ่อยๆ หากไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเช่นการอ่อนเพลียที่เกิดจากการเป็นโรคต่างๆ อาจจะมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะเครียด การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ เช่น โปรตีน วิตามินบี หรือธาตุเหล็กเป็นต้น
วิธีชาร์จความสดชื่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นก่อนนอน เช่น การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก และ การเล่นมือถือก่อนนอน
- รับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหาร หากไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครบตามที่ร่างกายต้องการ อาจจะหาตัวช่วยเพื่อเสริมมื้ออาหารหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
- หากมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนมากผิดปกติจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ
- หากร่างกายอ่อนเพลียหรือนอนไม่หลับจากอาการเครียด ควรหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เนื่องจากสุขภาพจิตสัมพันธ์กับร่างกายโดยตรง
เอกสารอ้างอิง
1.กองบรรณาธิการ HONESTDOCS.(2562).ความง่วงนอนคืออะไรและอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดได้บ่อย?ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2562 จากhttps://www.honestdocs.co/sleepiness-and-what-are-the-most-common-causes
2.สำนักงานกองทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(2561).อาการอ่อนเพลียเป็นโรคหรือไม่.ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2562 จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/41212
3.สำนักงานกองทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(2561)นอนอย่างไรให้สุขภาพดี.ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2562 จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/40531-