อาการหลงๆ ลืมๆ เรียกชื่อคนใกล้ชิดไม่ได้ จำเหตุการณ์ปัจจุบันหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้ ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ไม่ยอมทำอะไรเหมือนคนไร้วิญญาณ นั่งนิ่งเฉย ๆ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ จากการที่เราเครียด นอนพักผ่อนน้อยเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์ ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือไม่ออกกำลังกาย ฯ และหลายคนอาจรู้สึกว่าอาการหลงๆ ลืมๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเราปล่อยทิ้งไว้ ไม่ดูแลสมองเราให้ดี นี่อาจเป็นสัญญาณ นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้
เพราะสมองเป็นอวัยวะสำคัญ ที่ใช้ในการคิดและตัดสินใจทุกๆ เรื่อง การบริหารสมองเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรสนใจ
อาหารสมองที่จะช่วยให้สมองทำงานได้เป็นปกติ ได้แก่
1. ออกซิเจน สมองต้องการออกซิเจน 20 - 25 % ของออกซิเจนทั้งหมดที่เข้าสู่ร่างกาย
2. อาหาร ควรมีไขมันประเภทโอเมก้า 3 ไปทดแทนส่วนที่สึกหรอ
3. ฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ และการสร้างจินตนาการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการใช้สมองอย่างต่อเนื่อง
4. อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก มีผลต่อการควบคุมการหลั่งสารที่ไม่ดี ทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลต่อสมอง
ท่าบริหารสมองเพื่อป้องกันสมองเสื่อม
1. ท่าบริหารปุ่มสมอง ใช้มือขวานวดไหปลาร้าด้านซ้ายเบาๆ 30 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง ประโยชน์ช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
2. ท่าบริหารปุ่มขมับ นวดขมับทั้ง 2 ข้างเบาๆ 30 วินาที ประโยชน์ช่วยให้สมองทั้งสองซีกทำงานสมดุลกัน
3. ท่าจีบแอล มือซ้ายทำท่าจีบ มือขวาทำท่าแอล จากนั้นให้มือซ้ายทำท่าแอล มือขวาทำท่าจีบ ทำสลับไปมาประมาณ 10 ครั้ง ประโยชน์ช่วยกระตุ้นการทำงานที่ประสานกันระหว่างตากับมือ
4. ท่าโป้งก้อย ใช้มือซ้ายชูนิ้วก้อย และมือขวาชูนิ้วโป้ง จากนั้นหมุนมือสลับจากชูนิ้วก้อยเปลี่ยนเป็นนิ้วโป้ง จากที่ชูนิ้วโป้ง เปลี่ยนเป็นชูนิ้วก้อย ทำสลับกันไปมา 10 ครั้ง ประโยชน์ช่วยให้สมองสั่งการได้ดีขึ้น ฝึกจิตให้มีสมาธิในการรับรู้
5. ท่าแตะหู ใช้มือซ้ายอ้อมด้านล่างไปจับหูขวา ใช้มือขวาอ้อมด้านบนไปจับหูซ้าย จากนั้นสลับข้าง ทำสลับกันไปมา 10 ครั้ง ประโยชน์ช่วยเรื่องความคิด ป้องกันอาการหลงลืม บริหารสมองส่วนที่คิดคำนวณและกะระยะ ให้ทำงานได้ดีขึ้น
หากเราดูแลสมองของเราเป็นอย่างดี เราก็จะห่างไกลจากอาการหลงลืม และภาวะสมองเสื่อม รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมมาดูแลสมองกันนะคะ
ภญ.สิริญา อภิวงศ์
อ้างอิง
1. รศ.พญ.วรพรรณ เสนาณรงค์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.//(2563).//บริหารสมอง ป้องกันความเสื่อม.//สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2563,/จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1046
2. นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.//(2563).//สมองใส ห่างไกลโรค.//สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2563,/จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2012/dementia-alzheimer-symptoms